วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น


บทที่ 1
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
     เศรษฐศาสตร์  เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม เกี่ยวกับการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพื่อผลิตสินค้าและบริการไปบำบัดความต้องการของมนุษย์อันมีอยู่อย่างไม่จำกัด  เศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจหน่วยย่อย และเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจส่วนรวม ทั้ง 2 แขนง มีความสัมพันธ์กัน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่น ๆ เช่น บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น
          ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นจริง เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอะไรคืออะไร และทฤฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น เป็นการศึกษาเพื่อตัดสินว่าคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
          การศึกษาเศรษฐศาสตร์ มี 2 วิธี คือ วิธีอนุมาน เป็นการศึกษาจากสาเหตุไปหาผล และวิธีอุปมาน เป็นการศึกษาจากผลเพื่อหาสาเหตุ ทุกสังคมในโลกล้วนมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยการผลิตจำกัด ทำให้ต้องมีการตัดสินใจว่า จะใช้ปัจจัยการผลิตนั้นไปเพื่อเลือกผลิตอะไร ใช้กรรมวิธีผลิตอย่างไร และจะแบ่งปันสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปให้ใครบ้าง
          เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์มาก เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ผลิต เจ้าของปัจจัยการผลิต หรือผู้บริโภค


บทที่ 2
ระบบเศรษฐกิจ
   ระบบเศรษฐกิจ   คือ หน่วยเศรษฐกิจและหน่วยธุรกิจรวมตัวกัน  เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ภายใต้รูปแบบของการปกครอง  จารีต  ประเพณี  สังคม วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยตัดสินปัญหาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจทุกระบบให้บรรลุเป้าหมาย ึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล จะต้องกำหนดรูปแบบทางเศรษฐกิจ  ออกระเบียบข้อบังคับ  และมีวิธีการควบคมการ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม  และเป็นผลดีต่อประเทศ  
        ระบบเศรษฐกิจ  แบ่งเป็น 4 ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม จะให้สิทธิแก่เอกชนในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่  ระบบสังคมนิยม  จะมีการวางแผนจากส่วนกลาง รัฐจะต้องเป็นผู้กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ระบบคอมมิวนิสต์ ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ ภาคเอกชนไม่มีสิทธิเป็นจ้าของปัจจัยการผลิด  และระบบผสม  ส่วนใหญ่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ ครัวเรือน ธุรกิจ และรัฐบาล 
          หน้าที่ของแต่ละบุคคลในระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจหน่วยหนึ่ง ๆประกอบด้วยบุคคลจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่างกัน คือ ผู้ผลิตหรือหน่วยธุรกิจ  ทำหน้าที่ในการผลิตสินค้าและบริการ  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เจ้าของปัจจัยการผลิต  บุคคลที่มีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย เช่น ทรัพย์สิน ทุน ที่ดิน แรงงาน มาให้ผู้ผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีรายได้มากที่สุด  ผู้บริโภค เป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รับความพอใจในการแลกเปลี่ยนกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไป


บทที่ 3
อุปสงค์ อุปทาน และราคาดุลยภาพ
  อุปสงค์ คือ จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆหรือ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ หรือ ณ ระดับราคาสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยปกติจะให้ความสำคัญกับเรื่องระดับราคามากที่สุด และเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป จำนวนซื้อสินค้าและบริการชนิดนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลของราคาซึ่งประกอบด้วยผลของการทดแทนกัน และผลของรายได้
          เส้นอุปสงค์สามารถสร้างได้จากข้อมูลในตารางอุปสงค์ ซึ่งจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคา และปริมาณซื้อ โดยปกติเส้นอุปสงค์จะเป็นเส้นทอดลงจากซ้ายไปขวา เส้นอุปสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงไปทั้งเส้น โดยอยู่ทางขวามือหรือทางซ้ายมือของเส้นเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปสงค์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้จำนวนซื้อมากขึ้นหรือน้อยลง
          อุปทาน  คือ  จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ขายต้องการขาย  ณ ระดับราคาต่าง ๆ ซึ่งจำนวนขายจะเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเส้นอุปทานซึ่งเป็นเส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและจำนวนขาย จึงเป็นเส้นทอดขึ้นจากซ้ายไปขวา เส้นอุปทานสามารถเปลี่ยนแปลงไปทางซ้ายมือหรือขวามือของเส้นเดิมได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปทานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะทำให้จำนวนขายมากขึ้นหรือน้อยลง
          ราคาดุลยภาพ  เป็นราคาที่ทำให้จำนวนเสนอซื้อ (อุปสงค์) เท่ากับจำนวนเสนอขาย (อุปทาน) ราคาใด ๆ ที่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน และราคาใด ๆ ที่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ราคาดังกล่าว จะปรับเข้าสู่ราคาดุลยภาพและราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะมีการเคลื่อนย้ายเส้นอุปสงค์ และ/หรืออุปทาน ซึ่งอาจทำให้ราคาดุลยภาพใหม่ และ/หรือปริมาณดุลยภาพใหม่สูงขึ้นหรือลดลง
          โดยปกติรัฐบาลจะปล่อยให้กลไกราคาทำงานไปตามลำพัง โดยไม่เข้าไปควบคุมราคา ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นซึ่งกลไกราคาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มาตรการที่ใช้รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงกลไกของราคาในตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมี 2 มาตรการ คือ การกำหนดราคาขั้นต่ำ (การประกันราคา) ซึ่งจะกระทำเพื่อยกระดับราคาของสินค้าที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ารายการที่สำคัญ เป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตหรือผู้ขาย อีกมาตรการก็คือ การกำหนดราคาขั้นสูง เป็นมาตรการที่ใช้กำหนดราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินเพดาน จะใช้ในระหว่างเกิดขาดแคลนสินค้า ซึ่งการขาดแคลนสินค้าทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้บริโภคเดือดร้อน

บทที่ 4
การผลิต
  การผลิต  เป็นกระบวนการแปรรูปปัจจัยการผลิตให้เป็นสินค้าและบริการ
          อรรถประโยชน์ หมายถึง ความพึงพอใจที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
          อรรถประโยชน์ของสินค้าหรือบริการ  เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของปัจจัยการผลิตต้องนำมาพิจารณาว่า สินค้าหรือบริการนั้น ๆ จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือมีอรรถประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด
          ปัจจัยการผลิต ได้แก่ เจ้าของที่ดิน  หมายถึงที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น ที่ตั้งสำนักงาน เจ้าของแรงงาน  หมายถึง การทำงานทุกชนิดของมนุษย์ทั้งที่ใช้แรงงานกำลังความคิด ความสามารถ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าหรือบริการ เจ้าของทุน  หมายถึง เครื่องมือเครื่องใช้หรือเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหาปัจจัยการผลิตอื่น ๆ  ผู้ประกอบการ  หมายถึง บุคคลที่หรือกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งองค์การผลิตขึ้น เพื่อผลิตสินค้าและบริการ
          ผลตอบแทนของเจ้าของปัจจัยการผลิต  ในระบบการผลิตซึ่งต้องอาศัยปัจจัยการผลิต จึงจะทำให้ได้รับผลผลิตตามที่ต้องการ และสามารถนำออกจำหน่ายสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ สำหรับเจ้าของปัจจัยการผลิตนั้นก็จะได้รับผลตอบแทนดังนี้ เจ้าของทุน  ค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ย  เจ้าของแรงงาน  ค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง เจ้าของที่ดิน  ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่า ผู้ประกอบการ ค่าตอบแทนเป็นกำไร
          ต้นทุนการผลิต หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เนื่องจากการใช้ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ  ต้นทุนการผลิตสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่ผันแปรไปตามปริมาณการผลิต ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณมากหรือน้อยเพียงใด  ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนที่คงที่ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ต้นทุนผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายที่ผันแปร ซึ่งจะมีปริมาณรายจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต ถ้าผลิตในปริมาณมากก็จะเสียต้นทุนมาก ถ้าผลิตปริมาณน้อยก็จะเสียต้นทุนน้อย และถ้าไม่มีการผลิตก็ไม่ต้องจ่ายเลย เช่น ค่าน้ำค่าไฟฟ้า

บทที่ 5
ตลาด
   ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงซื้อขายสินค้าและบริการกันได้
          ปัจจัยที่กำหนดขนาดของตลาด  ได้แก่ ลักษณะของสินค้า  รวมถึงรูปร่างของสินค้า การบริการ  สีสัน ขนาด ตรา การสื่อสารและการคมนาคม ถ้าสินค้าใดที่สามารถขนส่งจากมือผู้ผลิตไปยังมือผู้บริโภคด้วยระบบการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและประหยัด ย่อมทำให้ตลาดของสินค้านั้นขยายกว้างออกไป ถ้าการสื่อสารดี ก็จะทำให้การติดต่อถึงกันสะดวกและรวดเร็ว สามารถตกลงเจรจาการค้ากันทางการสื่อสารได้ ทำให้ตลาดขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น นโยบายของรัฐบาล  ที่เกี่ยวข้องกับตลาดของสินค้าและบริการจะมีผลทำให้ขอบเขตของตลาดขยายหรือแคบลงได้  ความต้องการของตลาด  ตลาดจะขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้น ๆ การกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ  ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยากจน มีรายได้ต่ำ การขยายตัวของตลาดสินค้าบางชนิดจะทำได้ยาก  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ  การบริโภคสินค้านั้น ๆ ในบางครั้งก็มีผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมด้วย 
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์  จะต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก  สินค้าที่ซื้อขายกันมีลักษณะและคุณภาพเหมือนกันทุกประการ  ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรู้เรื่องสภาวะตลาดเป็นอย่างดี  การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้สะดวกรวดเร็ว  ผู้ผลิดรายใหม่จะมีเสรีภาพเข้ามาดำเนินการผลิตในตลาดได้โดยสะดวก
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์  ซึ่งจำแนกออกเป็น  3 ชนิด ย่อย ๆ คือตลาดผูกขาดหรือตลาดผู้ขายเพียงรายเดียว  ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขาย ผู้ผลิตเพียงรายเดียว ทำให้สามารถกำหนดราคา ปริมาณการผลิต การจำหน่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ตลาดผู้ขายน้อยราย  จะมีผู้ขายไม่มากราย แต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด  ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด  ผู้ขายแต่ละรายจะมีอิสระในการกำหนดราคาและจำนวนผลิต โดยไม่กระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่น 
บทที่ 6
พฤติกรรมผู้บริโภค
  พฤติกรรมผู้บริโภค  เป็นการศึกษาถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคแต่ละคน แต่ละกลุ่ม  ว่าใช้เหตุผลอะไรเป็นเครื่องตัดสินใจในการแสวงหาสินค้ามาสนองความต้องการ และได้รับความพึงพอใจมากที่สุด
          ทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีทฤษฎีอรรถประโยชน์ เป็นทฤษฎีที่ศึกษาประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการบริโภค โดยึกษาความพอใจของผู้บริโภคที่เกิดจากการบริโภคสินค้าและบริการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง โดยตั้งสมมุติในการวัดความพึงพอใจออกมาเป็นตัวเลข   ทฤษฎีเส้นความพอใจเท่ากัน  เป็นทฤษฎีที่อธิบายความพึงพอใจของผู้บริโภคด้วยการเปรียบเทียบความพอใจ แทนที่จะเป็นการวัดความพึงพอใจออกมาเป็นตัวเลข กล่าวคือ ผู้บริโภคสามารถบอกได้แต่เพียงว่าชอบสินค้าหรือบริการนั้น ๆ มากกว่า น้อยกว่าหรือเท่ากับสินค้าหรือบริการชนิดอื่น ๆ โดยไม่สามารถระบุความแตกต่างออกมาเป็นตัวเลขได้

บทที่ 7
รายได้ประชาชาติ
     รายได้ประชาชาติ  หมายถึง มูลค่าเป็นตัวเงินของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ตามราคาตลาดที่ผลิตขึ้นด้วยทรัพยากรของประเทศ ในระยะเวลา 1 ปี
          รายได้ประชาชาติ คำนวณได้ 3 วิธี คือ
               1.  การคำนวณจากด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการรวมมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ประเทศผลิตขึ้น ในระยะเวลา 1 ปี
               2.  การคำนวณจากด้านรายได้ เป็นการรวมรายได้ทุกประเภทที่เจ้าของปัจจัยการผลิตได้รับจากการขายปัจจัยให้แก่ ผู้ผลิต
               3.  การคำนวณจากด้านรายจ่าย เป็นการคำนวณโดยการนำรายจ่ายของประชาชนในการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายรวมกัน ในระยะเวลา 1 ปี
          ตัวเลขรายได้ประชาชาติ  มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ  การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ  การเงิน  และการคลังของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดในการใช้ตัวเลขรายได้ประชาชาติ และเป็นเครื่องวัดประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศ และสวัสดิการทางเศรษฐกิจ

บทที่ 8
เงินเฟ้อและเงินฝืด

    เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป โดยเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ  สาเหตุองเงินเฟ้อ มี 2 ประการ คือ เกิดจากอุปสงค์ตึง และเกิดจากต้นทุนผลัก เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ความต้องการถือเงิน การสะสมทุน การคลังของรัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขเงินเฟ้อ ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมลง  
          เงินฝืด  หมายถึง  ภาวะที่ระดับราคาสินค้าละบริการทั่ว ๆ ไป ลดลงเรื่อย ๆ  เงินฝืดเกิดขึ้นเนื่องจากอุปสงค์มวลรวมลดลง เงินฝืดจะทำให้การลงทุนลดลง การจ้างงานลดลง และการว่างงานจะมากขึ้น  การแก้ไขปัญหาเงินฝืด ทำได้โดยกระตุ้นให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น
           ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด   สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประเทศพัฒนา หรือประเทศอุตสาหกรรม ถ้าเป็นภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างอ่อน ๆ ย่อมเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างปานกลางและอย่างรุนแรงแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศชาติ  การแก้ไขไม่สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแล้ว ประชาชนในประเทศจะต้องร่วมมือด้วย เพราะประเทศชาติเป็นเรื่องของคนเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับระบบครอบครัว ซึ่งแก้ไขได้รวดเร็วกว่า

บทที่ 9
วัฏจักรเศรษฐกิจ
  วัจักรเศรษฐกิจ  หมายถึง การเปลี่ยนแปลงขึ้นลง ซ้ำ ๆ กันของเศรษฐกิจ ซึ่งมี 4 ระยะ คือ ระยะรุ่งเรือง  ระยะถดถอย  ระยะตกต่ำ  และระยะฟื้นตัว  ในแต่ละระยะมีเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน  ในแต่ละระยะไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากันเสมอไป และอาจใช้เวลาในแต่ละช่วงอยู่ระหว่าง 2 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในภาวะเศรษฐกิจ 
          สาเหตุการเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจ  เกิดากสาเหตุภายนอกระบบเศรษฐกิจ และสาเหตุภายในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถบังคับไม่ให้เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจได้ แต่เมื่อเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะที่ไม่พึงปรารถนาแล้ว ก็สามารถป้องกันและแก้ไขได้โดยใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้
บทที่ 10
ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน
ประเทส่วนใหญ่ในโลกนี้จำเป็นจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะการติดต่อสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ การติดต่อกันดังกล่าวจะทำให้มีเงินตราไหลเข้าและไหลออกนอกประเทศ ทำให้เกิดการขาดดุล-เกินดุลการค้า ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบของมูลค่าส่งออกและมูลค่านำเข้าสินค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าส่งออก-นำเข้า หรือดุลการค้าและดุลบริการ ซึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว การประกันภัย และการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อรวมทั้งสองส่วนกับเงินโอน เงินบริจาค เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็จะเป็นรายการของดุลการชำระเงิน ซึ่งหมายถึง รายรับจากต่างประเทศทั้งหมด โดยทั่วไปประเทศกำลังพัฒนามักขาดดุลการค้าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นปฐมพวกแร่ธาตุและผลผลิตการเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ มีมูลค่าต่ำกว่าสินค้านำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่มักจะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจมีดุลการชำระเงินเกินดุล เพราะมีการลงทุนหรือมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามามาก สำหรับประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดดุลการค้า ดุลการชำระเงินมานาน จนกระทั่งหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยก็เริ่มเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงิน แนวทางที่นิยมใช้ในการแก้ไขการขาดดุลการค้าและการขาดดุลชำระเงิน ได้แก่ การลดค่าเงิน การตั้งกำแพงภาษี การกีดกันการค้ารูปแบบต่าง ๆ การส่งเสริมการส่งออก และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ   

บทที่ 11
การพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจ  เป็นกระบวนการที่ทำให้รายได้ต่อบุคคลที่แท้จริง ของคนในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  
          ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น การวัดว่าประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในระดับใดขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเครื่องมือสำคัญ คือ รายได้ต่อบุคคล และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ ซึ่งค่าใช้จ่าย หรือรายได้ต่อบุคคลเป็นเครื่องวัดฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถแบ่งประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกึ่งพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว
          ประเทศด้อยพัฒนา  มีลักษณะสำคัญคือ ระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อัตราเกิดสูง มีคนว่างงานมาก การออมมีน้อย ขาดแคลนทุน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และต้องพึ่งพาอาศัยต่างประเทศมาก
          ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณและคุณภาพของประชากร ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติ การสะสมทุน และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
          แผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย  ประเทศไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 โดยแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ มีจุดเน้นแต่ละแผนดังนี้
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1     เน้นการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทาง  เศรษฐกิจ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2     เน้นการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3     เน้นความร่วมมือของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4     เน้นความปลอดภัยมั่นคง
 
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5     เน้นในเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6     เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า การคลังและการว่างงาน ตลอดจนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการตกต่ำทางฐานะของเกษตรกร
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7     เน้นการกระจายรายได้ และการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8     เน้นการพัฒนาศักยภาพของคน
          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9     ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทาง
บทที่ 12
โครงสร้างและปัญหาเศรษฐกิจ
 ลกษณะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีที่เน้นเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก การเร่งผลิตทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออก นำเข้า และการเงินระหว่างประเทศ เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลและยั่งยืนตามมา เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินทุน แรงงานไร้ทักษะและฝีมือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิต ฯลฯ รัฐบาลจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรีบด่วนก่อนที่จะเป็นปัญหาเรื้อรังจนแก้ไขไม่ได้
          ระบบเศรษฐกิจของไทยได้เน้นการเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออก นำเข้า และการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเร่งการลงทุนและการผลิตในประเทศ และใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยไม่มีการผลิตทดแทนทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตามมา ถึงแม้ไทยจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่ก็ประสบปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความยากจนของประชาชนที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ของการพัฒนา ในระดับรัฐบาลจึงต้องเข้ามาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว